วุฒิสภา-สสส.-ภาคีเครือข่าย เดินหน้ารณรงค์-ผนึกกำลัง ตร. สร้างความปลอดภัยทางม้าลาย หลังพบคดีอุบัติเหตุคนเดินเท้าเฉลี่ย 2,500 รายต่อปี จับมือตำรวจไทย สร้างมาตรการควบคุม-บังคับใช้กฎหมาย ด้านไรเดอร์-ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ร่วมขับเคลื่อนขับขี่ปลอดภัยลดอุบัติเหตุ
วุฒิสภา-สสส.-ภาคีเครือข่าย เดินหน้ารณรงค์-ผนึกกำลัง ตร. สร้างความปลอดภัยทางม้าลาย หลังพบคดีอุบัติเหตุคนเดินเท้าเฉลี่ย 2,500 รายต่อปี จับมือตำรวจไทย สร้างมาตรการควบคุม-บังคับใช้กฎหมาย ด้านไรเดอร์-ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ร่วมขับเคลื่อนขับขี่ปลอดภัยลดอุบัติเหตุ
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภากาชาดไทย สำนักงานเขตปทุมวัน และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้ ครั้งที่ 6 “ก้าวเดินอย่างปลอดภัยบนทางม้าลาย ตำรวจจราจรไทยร่วมดูแล” พร้อมมอบสื่อให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อนำไปใช้ในการรณรงค์สื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชนและบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างความปลอดภัยบนทางม้าลาย ด้วยการลดความเร็วเขตชุมชนและชะลอก่อนถึงทางแยกทางข้าม
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า “รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงให้เหลือไม่เกิน 12 คนต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2570 โดยใช้แนวคิดเน้นการจัดการเชิงระบบวิถีแห่งความปลอดภัย (Safe System Approach) โดยระบบที่ปลอดภัยจะช่วยป้องกัน และลดความสูญเสีย ซึ่งกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา กิจกรรม หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย ขับเคลื่อนทำงานรณรงค์ปลูกจิตสำนึกอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างวินัยจราจร วันนี้เรายังเดินหน้ารณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจให้คนข้ามทางม้าลาย การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญยิ่งที่มีหน้าที่กำกับดูแล บังคับใช้กฎหมาย จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้เกิดความปลอดภัย 3 ด้าน คือ 1. การบริหารจัดการ การบังคับใช้กฎหมายและการกำกับติดตาม โดยเฉพาะการบังคับใช้และมีมาตรการดูแล ณ ทางแยก-ทางข้าม โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่ยังมีทั้งการจอดรถทับทางม้าลาย-ไม่หยุดให้คนข้าม 2. มาตรการและมาตรฐานความปลอดภัย เช่น มาตรฐานสัญลักษณ์จราจรทางถนน และการกำหนด Speed Zone จำกัดความเร็วในเขตชุมชน 3. การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เช่น นำเทคโนโลยีเสริมการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืน การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับกรมการขนส่งทางบกและกรุงเทพมหานคร วางแนวทางควบคุม/บังคับใช้กฎหมาย และสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านความปลอดภัย
พล.ต.อ. ปรีชา เจริญสหายานนท์ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุทางถนนและคำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน และในฐานะที่ ตร. เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลกับกำความปลอดภัยด้านการจราจรก็จะเร่งรัดดูแลให้เกิดความปลอดภัยเพิ่มขึ้น โดยกำชับให้ บช.น.หารือกับ กทม./ บก.ทล. หารือร่วมกับ กรมทางหลวง เพื่อกำหนดจุดติดตั้งกล้อง และการรับส่งข้อมูลภาพถ่าย เพื่อนำมาใช้ออกใบสั่งกับผู้ฝ่าฝืนตามกฎหมาย ผ่านการใช้งานระบบ PTM (Police Ticket Management) และจะบังคับใช้กฎหมายในจุดที่มีการติดตั้งกล้องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งใน กทม. มีพื้นที่ตรวจจับความผิดฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดงจำนวน 33 จุด และส่วนมาตรการป้องกันลดอุบัติเหตุโดยเฉพาะทางม้าลาย ได้มีการเร่งบังคับใช้กฎหมาย อาทิ การฝ่าฝืนจอดรถบนทางม้าลาย ไม่จอดให้คนข้ามทางม้าลาย เพิ่มโทษ หรือแม้กระทั่งคนเดินเท้าหากไม่ข้ามบริเวณทางม้าลายก็มีความผิดเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของไทยปี 2561-2564 พบว่า “คนเดินเท้า” เป็นกลุ่มผู้ใช้ถนนที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ และเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่น สอดคล้องกับสถิติคดีอุบัติเหตุจราจรปี 2554 – 2563 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า มีคนเดินเท้าได้รับอุบัติเหตุเฉลี่ยปีละ 2,500 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 7 ราย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม. และอุบัติเหตุชนคนเดินเท้าบนทางหลวง เฉลี่ยเกินครึ่งมีผู้เสียชีวิต ข้อมูลปี 2564 ยังพบว่า มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 65% โดยมีสาเหตุจากการขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด จึงอยากเน้นย้ำว่าการใช้ความเร็วที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเขตเมือง-เขตชุมชน เช่น หน้าโรงเรียน หน้าโรงพยาบาล หน้าตลาด หรือหน้าสถานที่ราชการเป็นความเร็วที่ทางองค์การอนามัยโลกแนะนำว่าหากเกิดการชนที่ความเร็วระดับนี้ จะช่วยลดโอกาสเสียชีวิตได้ถึง 90% จึงขอเชิญชวนลดความเร็วก่อนถึงบริเวณทางข้าม เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนและสร้างวัฒนธรรมของการขับขี่ที่ปลอดภัย
โดยครั้งนี้ได้จัดขบวนรณรงค์ สร้างจิตนึกผู้ขับขี่รถให้หยุดรถตรงทางม้าลาย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ใช้รถใช้ถนน พร้อมมอบหมวกนิรภัยให้กับไรเดอร์ และผู้ขับขี่จักรยานยนต์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนขับขี่ปลอดภัยร่วมลดอุบัติเหตุ” “คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สสส. และภาคี ได้ร่วมมือกับ ตร. เพื่อส่งมอบข้อเสนอในการลดอุบัติเหตุถึงผู้บังคับใช้กฎหมายโดยตรง ในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนจราจร ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเคารพกฎจราจรอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ได้มีการขอความร่วมมือลดพฤติกรรมเสี่ยงการขับขี่ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ กลุ่มของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มไรเดอร์ในเขต กทม.ในการเข้าร่วมการรณรงค์ เพื่อร่วมสร้างวัฒนธรรม หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย ในครั้งนี้” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
#หมอกระต่ายต้องไม่ตายฟรี
#หยุดอุบัติเหตุ=หยุดสูญเสีย
#หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย
#ความดีที่คุณทำได้