เมื่อวันที่ 3 ส.ค.66 เวลา 10.30 น. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พร้อมด้วย นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายเสกสม อัครพันธ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. นายวิโรจน์ แหวนทองคำ ผู้ช่วย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้แทน ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ นายไพรัตน์ ทองเทพ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการเดินรถภาคเหนือ ฝ่ายธุรกิจเดินรถ บริษัท ขนส่ง จำกัด ผู้แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ร่วมพิธีเปิดการรณรงค์ “ผนึกกำลังร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์” เตือนภัยออนไลน์บนรถยนต์โดยสารสาธารณะ ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ผบ.ตร.กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้พัฒนาระบบแจ้งความออนไลน์ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.65 เปิดดำเนินการรับแจ้งความออนไลน์และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหามาตรการในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้ร่วมกันผลักดัน พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.66 เพื่อดำเนินการปราบปรามบัญชีม้า และ ซิมม้า ต่อมาเพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินการตาม พ.ร.ก.เป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แต่งตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อน การป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่ง ผบ.ตร. เป็นประธานอนุกรรมการ และได้มีการประชุมหารือร่วมกับธนาคาร สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม เพื่อร่วมกันกำหนด มาตรการที่สำคัญ ได้แก่ กำหนดเหตุอันควรสงสัยว่ามีหรืออาจจะมีการกระทำความผิด ของสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการโทรศัพท์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อระงับการทำธุรกรรม และส่งต่อข้อมูลกันเป็นระบบ ซึ่งเป็นช่องทางติดต่อประสานงาน ทั้ง 21 ธนาคาร ผู้ให้บริการโทรศัพท์และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งได้มีการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนบัญชีต้องสงสัยตาม มาตรา 6 และ มาตรา 7 ผ่านระบบ ITMX (Interbank Transaction Management and Exchange) ซึ่งเป็นระบบการชําระเงิน และการโอนเงินระหว่างธนาคารของประเทศรองรับการทําธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์
ขณะเดียวกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มี พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการ รณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในช่องทางออนไลน์(Online) และออนไซต์(Onsite) ในช่องทางออนไลน์(Online) ได้มีการแถลงข่าวเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับกลโกง จุดสังเกตุ และวิธีป้องกันตนเองจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้นำเสนอในช่องทางของสื่อมวลชนทุกแขนง ได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ www.เตือนภัยออนไลน์.com เพจ https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ สำหรับการประชาสัมพันธ์ในช่องทางออนไซต์(Onsite) นั้น ได้ร่วมกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมติดตั้งโปสเตอร์และป้ายเตือนภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อรณรงค์ เสริมสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนป้องกันตัวเองจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ณ สถานีบริการน้ำมันทุกสาขาทั่วประเทศ มีการจัดทีมวิทยากรของคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และครูไซเบอร์ทั้งครู ก. และครู ข. ออกบรรยายให้ความรู้แก่ประชาชน ซึ่งในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ทั้งในช่องทางออนไลน์(Online) และออนไซต์(Onsite) นั้น ได้มีการนำแบบทดสอบ วัคซีนไซเบอร์ จำนวน 40 ข้อ ซึ่งได้ รวบรวมมาจากกลโกงของคนร้ายและสิ่งที่ประชาชนควรรู้ มาประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้ทำแบบทดสอบ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ได้อีกช่องทางหนึ่ง
สำหรับภัยออนไลน์เป็นภัยที่เกิดขึ้นใหม่ในสังคม แต่สามารถสร้างความเสียหายให้แก่พี่น้องประชาชนได้อย่างรวดเร็วและในวงกว้าง กระทบต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้ผนึกกำลังกับสำนักนายกรัฐมนตรี หน่วยงานภาครัฐทั้งระดับกระทรวง ทบวง กรม ทุกหน่วย เครือข่ายภาคเอกชน บริษัทน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า สื่อมวลชน กต.ตร. และสถานีตำรวจทั่วประเทศ กระทำพิธีเปิดรณรงค์ “ร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” สร้างการรับรู้ร่วมกัน เพื่อให้ช่วยกันขับเคลื่อนการสร้างภูมิคุ้มกันภัยให้ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ แถลงข่าวเพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ ในหลายวิธี หลายช่องทาง เพื่อให้ประชาชนได้มีภูมิคุ้มกัน ภัยไซเบอร์ แต่ปรากฏว่ายังมีประชาชนตกเป็นเหยื่อของคนร้ายอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้เชิญ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายเสกสม อัครพันธ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายวิโรจน์ แหวนทองคำ ผู้ช่วย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้แทน ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ นายไพรัตน์ ทองเทพ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการเดินรถภาคเหนือ ฝ่ายธุรกิจเดินรถ บริษัท ขนส่ง จำกัด ผู้แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด มาร่วมพิธี เปิดการรณรงค์ “ผนึกกำลังร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์” เตือนภัยออนไลน์บนรถยนต์โดยสารสาธารณะ และได้ร่วมกันติดสติ๊กเกอร์เตือนภัยออนไลน์ 8 รูปแบบกลโกง บนรถยนต์โดยสารสาธารณะ (บขส.) รถยนต์โดยสารประจำทาง (รถเมล์) และ รถยนต์รับจ้างสาธารณะ (TAXI) ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนที่โดยสารรถยนต์โดยสารและรถยนต์รับจ้าง ได้รู้เท่าทันภัยออนไลน์อีกช่องทางหนึ่ง
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก ขสมก. บขส. และ แท็กซี่ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ ซึ่งในส่วนของ ขสมก. มีรถวิ่งให้บริการอยู่ จำนวน 2,885 คัน ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 654,761 คน บขส. มีรถวิ่งให้บริการอยู่ จำนวน 369 คัน ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 6,948 คน แท็กซี่ มีรถวิ่งให้บริการอยู่ใน กทม. จำนวน 78,635 คัน ต่างจังหวัด จำนวน 6,421 คัน รวม จำนวน 85,056 คัน ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 1,275,840 คน ภาพรวมผู้โดยสารที่ใช้บริการรถยนต์ของ ขสมก. บขส. และแท็กซี่ จำนวนเกือบ 90,000 คัน ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันเกือบ 2 ล้านคน จึงคาดว่าจะสามารถประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารได้รู้เท่าทันภัยออนไลน์และไม่ตกเป็นเหยื่อได้เฉลี่ยต่อวันเกือบ 2 ล้านคนเช่นกัน
ผบ.ตร. กล่าวเพิ่มติมว่า เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รู้เท่าทันภัยออนไลน์อย่างต่อเนื่อง จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ทำแบบทดสอบ วัคซีนไซเบอร์ จำนวน 40 ข้อ และขอให้แชร์แบบทดสอบไปให้กับญาติหรือผู้เป็นที่รักเพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ทำแบบทดสอบมีความรู้เท่าทันกลโกงของคนร้ายบนโลกออนไลน์ และไม่ตกเป็นเหยื่อ
ทั้งนี้ สามารถ ติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com
( QR CODE ข้อสอบ 40 ข้อ สำหรับประชาชน)