ผบ.ตร.เร่งขับเคลื่อนคณะอนุกรรมการฯ ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีครั้งที่ 3/66 พอใจภาพรวมคดีมีแนวโน้มลดลง ย้ำทุกหน่วยเดินหน้าร่วมสร้างภูมิคุ้มกันวัคซีนไซเบอร์ให้ประชาชนต่อเนื่อง พร้อมกำหนดมาตรการเชิงรุกกวาดล้างคดีออนไลน์
วันนี้ (18 ส.ค.66) เวลา 13.30 น. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พร้อมด้วย นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) , พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. , ผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย ตัวแทนสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการโทรศัพท์ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีครั้งที่ 3/2566 ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 ตร.
สำหรับอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มี ผบ.ตร.เป็นประธานอนุกรรมการ มีปลัดกระทรวงดีอีเอส และ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร เป็นที่ปรึกษา มีส่วนราชการเกี่ยวข้องเป็นอนุกรรมการ รวมทั้งผู้แทนสมาคมธนาคารเข้าร่วมในคณะทำงาน มีอำนาจหน้าที่สำคัญอาทิ เช่น หารือร่วมหน่วยงานเกี่ยวข้องในการปฏิบัติตาม พรก. มารตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 การเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล การแจ้งข้อมูลหลักฐาน การกำหนดเหตุอันควรสงสัย หรือการปฏิบัติอื่นใดตามกฎหมาย รวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันให้หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน นำไปเผยแพร่ โดยจัดการประชุมร่วมกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง โดยครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 3/2566
ที่ประชุมได้รายงานสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์ตั้งแต่ 17 มี.ค.- 15 ส.ค.66 พบว่า มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์ 93,982 เรื่อง เฉลี่ยวันละ 627 เรื่องต่อวัน ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง สถิติคดีแจ้งความมากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1) คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการสูงถึง 288 เรื่องต่อวัน 2) คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 3) คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 4) หลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 5) หลอกให้ติดตั้งแอพดูดเงิน
มีการนำเสนอความคืบหน้าแบบทดสอบวัคซีนไซเบอร์ 40 ข้อ สร้างภูมิคุ้มกันออนไลน์ มีผู้เข้าร่วมทดสอบประสงค์ชิงรางวัลทั้งหมดรวม 195,874 คน มีคะแนนเฉลี่ย 38.91 มีผู้ไม่ประสงค์ชิงรางวัลเข้าร่วมทดสอบ 198,530 คน มีคะแนนเฉลี่ย 35.07 คะแนน ซึ่ง ผบ.ตร.ได้มีการแจกรางวัลไอโฟน 14 ให้ผู้เข้าร่วมทดสอบที่มีผลคะแนนตามที่กำหนดไว้ไปแล้วเมื่อ 8 ส.ค.66 ที่ผ่านมา พร้อมทำการปรับปรุงเนื้อหาแบบทดสอบให้ทันต่อแผนประทุษกรรมคนร้าย ประกอบกับความคิดเห็นของข้าราชการตำรวจและประชาชน ที่ทำแบบทดสอบ อยากให้มีการพัฒนารูปแบบข้อสอบวัคซีนไซเบอร์ให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันและความต้องการของประชาชน
ทางคณะทำงานจึงได้พัฒนาปรับปรุงรูปแบบข้อสอบวัคซีนไซเบอร์ ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ยังคงรูปแบบเดิม มีการทำข้อสอบ 40 ข้อ สำหรับประชาชนที่ร่วมกิจกรรม เพื่อลุ้นรางวัลไอโฟนและอื่นๆ ส่วนที่ 2 ทางคณะทำงานได้จัดทำเฉลยข้อสอบวัคซีน เพื่อให้ประชาชนที่ไม่ต้องการทำข้อสอบ แต่อยากได้ความรู้ อยากได้วัคซีนไซเบอร์ป้องกันตนเองจากภัยออนไลน์ พร้อมบอกต่อคนอื่นๆ สามารถเข้าไปอ่าน ไปเพิ่มความรู้วัคซีนไซเบอร์ได้ทันที
ที่ประชุมยังได้รายงาน ความคืบหน้าการลงนามเห็นชอบการบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการให้ความเห็นชอบระบบ หรือกระบวนการเปิดเผย แลกเปลี่ยนข้อมูล ตามมาตรา 4 แห่ง พรก.มาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ที่ลงนามร่วมกันของกระทรวงดีอีเอส , ตร., กรมสอบสวนคดีพิเศษ, ปปง. และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งลงนามไปเมื่อ 11 ส.ค.66 โดยการลงนามครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับความร่วมมือในการส่งต่อข้อมูล เปิดเผยข้อมูล เพื่อไล่เส้นทางการเงิน ระงับการทำธุรกรรม ช่วยเหลือผู้เสียหายได้มากขึ้น
มีการติดตามความคืบหน้าของคณะกรรมการย่อยๆ เช่น คณะทำงานย่อยด้านสถาบันทางการเงิน และผู้ประกอบการธุรกิจ คณะทำงานย่อยด้านผู้ให้บริการโทรศัพท์ คมนาคม และ กสทช. คณะทำงานแนวทางการควบคุมซื้อขายทรัพย์สินดิจิตอล คณะทำงานแสวงหาความร่วมมือรณรงค์ต้านภัยไซเบอร์ คณะทำงานด้านการประสานงานกระบวนการยุติธรรม โดยมีการหารือแนวทางสำคัญ เช่น กำหนดแนวทางควบคุมการซื้อขายทรัพย์สินดิจิทัล เพื่อไม่ให้เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนและฟอกเงิน ประสาน กสทช.ออกประกาศข้อบังคับเพื่อดำเนินการกับหมายเลขโทรศัพท์ต้องสงสัย หากชี้แจงไม่ได้จะถูกระงับหมายเลข ,การระงับหมายเลขที่รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าเป็นหมายเลขที่ใช้หรือเกี่ยวข้องกับการทำผิด กำหนดมาตรการดำเนินการกับเสาโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเตอร์เน็ตตามแนวตะเข็บชายแดน เพื่อมิให้คนร้ายที่มีฐานตั้งในประเทศเพื่อนบ้านใช้ในการทำผิด
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้กำหนดมาตรการเชิงรุกร่วมกันในการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อดำเนินการกับเฟซบุ๊ก สื่อโชเชียลที่มีการขายพื้นที่โฆษณาให้คนร้ายนำมาหลอกหลวงประชาชน มาตรการเชิงรุกของ ปปง.ในการปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ไล่สายเงินเอาผิดกลุ่มขบวนการให้ดียิ่งขึ้น กำหนดแนวทางมาตรการป้องกันปราบปรามแอปพลิเคชันดูดเงิน การแก้ไขปัญหาซิมม้าที่เปิดโดยคนต่างด้าว การเปิดบัญชีม้าผ่านระบบออนไลน์ การลดจำนวนเงินที่ต้องทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงก์กิ้งที่ต้องสแกนใบหน้า แนวทางการอายัดการโอนผ่านช่องทางชำระเงินอื่นๆ เช่น ทรูมันนี่ การใช้โทรศัพท์มือถือแทนการใช้บัตรเครดิตของคนร้ายเพื่อถอนเงินจากตู้ เอทีเอ็ม
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า “การประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีครั้งที่ 3/2566 ในวันนี้ เป็นการติดความคืบหน้าของการดำเนินการคณะกรรมการ และอนุกรรมการด้านต่างๆ เช่น การเร่งรัดดำเนินการการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล การแจ้งข้อมูลหลักฐาน การกำหนดเหตุอันควรสงสัย หรือการปฏิบัติอื่นใดตามกฎหมายระหว่างสถานบันธนาคาร ผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับการรับชำระเงิน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ โทรคมนาคม กำหนดแนวทางปฏิบัติให้มีการประสานงาน การประชุม เพื่อคลี่คลายคดี สามารถอายัดบัญชี ส่งต่อข้อมูล และสืบสวนติดตามจับกุมคนร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปราบปรามเสาโทรศัพท์ตามแนวชายแดน โดยจะมีชุดปฏิบัติการร่วมเพื่อตรวจสอบดำเนินการอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความสำคัญการสร้างภูมิคุ้มกัน “วัคซีนไซเบอร์” ให้หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน เผยแพร่ ข้อความที่เป็นสาระสำคัญ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” พร้อมกับเชิญชวนประชาชนทำแบบทดสอบ วัคซีนไซเบอร์ จำนวน 40 ข้อ ทั้งแบบทำข้อสอบเพื่อลุ้นรับรางวัล และรูปแบบใหม่ เฉลยข้อสอบ ให้ประชาชนได้เข้าไปอ่าน เพิ่มความรู้ เพิ่มวัคซีนไซเบอร์ให้ตนเอง
และขอให้บอกต่อเพื่อทำแบบทดสอบเพื่อให้มีความรู้เป็นภูมิคุ้มกันภัยกับทุกคน รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ เชื่อว่าไซเบอร์วัคซีนนี้ ถือเป็นวัคซีนที่ดี เมื่อได้รับภูมิแม้เพียงครั้งเดียว ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันได้ต่อเนื่องตลอดไป ถ้าคนไทยทุกคนได้รับวัคซีนนี้อย่างทั่วถึง จะเป็นการป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ได้มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลมากที่สุด ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com , Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรสายด่วน 1441”