การประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ ๖ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๖
วันจันทร์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา กองบัญชาการกองทัพไทย จัดการประชุม
ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ ๖ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๖ โดยมี พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน พร้อมด้วย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องนเรศวร กองบัญชาการกองทัพไทย
สำหรับการประชุมฯ ในวันนี้ เป็นการสรุปผลการปฏิบัติงานที่สำคัญของกองทัพไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้
กองบัญชาการกองทัพไทย ได้ชี้แจงผลการปฏิบัติงานของกองทัพไทย ซึ่งกองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมกับ เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้บูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกัน ได้แก่ ด้านการพิทักษ์เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง การจัดโครงการ “กองทัพไทยร้อยดวงใจ สู้ภัย COVID บริจาคโลหิต” โดยปัจจุบันมียอดกำลังพลกองทัพไทยร่วมบริจาคโลหิตสะสมกว่า ๕๐ ล้านมิลลิลิตร ตลอดจนดำรงความต่อเนื่องในการจัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา จิตอาสาภัยพิบัติ และจิตอาสาเฉพาะกิจ นอกจากนี้ ยังได้จัดประกวดผลงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งกองทัพไทยและกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้ส่งผลงานเข้าประกวดรวม ๓๐ ผลงาน โดยจะมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๖ ด้านการป้องกันประเทศ ในด้านการใช้กำลัง ศูนย์บัญชาการทางทหารได้ประสานงาน อำนวยการ และกำกับดูแล ผ่านศูนย์ปฏิบัติการเหล่าทัพ ในการจัดกำลังและวางกำลังในการป้องกันชายแดน เพื่อรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติในทุกมิติ ส่วนด้านการเตรียมกำลัง ได้ดำรงความต่อเนื่องโครงการพัฒนาขีดความสามารถศูนย์บัญชาการทางทหาร โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนการอำนวยการการปฏิบัติการร่วมของกองทัพไทย รวมถึงได้จัดการฝึกร่วมกองทัพไทย ประจำปี ๒๕๖๖ เพื่อทดสอบอำนวยการยุทธ์ตามแผนเผชิญสถานการณ์วิกฤติ ทดสอบระบบการควบคุมบังคับบัญชาในการอำนวยการยุทธ์ และทดสอบระบบการติดต่อสื่อสารบนพื้นฐานของแผนป้องกันประเทศด้านตะวันตก นอกจากนี้ ยังได้จัดการฝึกปฏิบัติการร่วมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ประจำปี ๒๕๖๖ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการปฏิบัติการรบผสมเหล่าให้มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์วิกฤตที่สอดคล้องกับบริบทความมั่นคงในปัจจุบัน ด้านการรักษาความมั่นคงของรัฐ ได้จัดกำลังสนับสนุนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในภารกิจการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจร ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ๒๐๒๒ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถด้านไซเบอร์ ภายใต้กรอบการดำเนินงานของประชาคมไซเบอร์กองทัพไทย สำหรับด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ได้จัดทำแนวทางการเตรียมความพร้อมในการตอบโต้สถานการณ์ฯ โดยบูรณาการกำลังพลและยุทโธปกรณ์ของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล หน่วยปฏิบัติการพิเศษเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในรูปแบบของบัญชีพร้อมเรียกปฏิบัติงาน ด้านการพัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคงและการช่วยเหลือประชาชน มีหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก สนับสนุนการพัฒนาประเทศในพื้นที่ยากลำบากและทุรกันดาร การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพได้เตรียมความพร้อมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ และ
ได้เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ อาทิ อุทกภัย ภัยแล้ง ไฟป่าและหมอกควัน นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบสารสนเทศการพัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคงและการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลจาก ๓๐ หน่วยงาน ทำให้สามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ รวมถึงสามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ด้านการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับต่างประเทศ โดย กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ
ได้ขับเคลื่อนกลไกความร่วมมือในทุกระดับ ทั้งในกรอบประเทศมหาอำนาจมิตรประเทศ และประเทศรอบบ้าน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่สำคัญ อาทิ การแลกเปลี่ยนการเยือน การประชุมทวิภาคีและพหุภาคีที่สำคัญ การฝึก และการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ เป็นต้น
กองทัพบก ได้ชี้แจงผลการปฏิบัติที่สำคัญให้ที่ประชุมฯ ได้รับทราบ ได้แก่ ด้านการพิทักษ์รักษา ปกป้อง เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ในวาระสำคัญ และโอกาสที่เป็นมหามงคลอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน ๑๔๕ โครงการ การสนับสนุนศูนย์อำนวยการใหญ่
จิตอาสาพระราชทาน ดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ดำเนินโครงการทหารพันธุ์ดี ดำเนินโครงการตามแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี การเผยแพร่ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทุกช่องทางที่หน่วยรับผิดชอบ ด้านการป้องกันประเทศ การจัดกำลังป้องกันชายแดน ในห้วงที่ผ่านมา ไม่ปรากฏการรุกล้ำดินแดนทางบกจากกำลังทหารของประเทศเพื่อนบ้าน โดยหน่วยได้วางกำลังและปฏิบัติภารกิจที่รับมอบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปฏิบัติการพิเศษในพื้นที่ระวังป้องกัน พร้อมทั้งได้สนับสนุนยุทโธปกรณ์พิเศษเพิ่มเติมให้กับกองกำลังป้องกันชายแดน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น ในด้านการปรับปรุง/พัฒนาโครงสร้างกำลังของกองทัพบกให้มีโครงสร้างและอัตราการจัดให้มีความทันสมัย เพียงพอต่อการใช้กำลังรองรับภัยคุกคามในปัจจุบัน การส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ได้กำหนดแนวทางในการพึ่งพาตนเอง
อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม โดยการพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยต่าง ๆ ให้สามารถผลิตสิ่งอุปกรณ์ขึ้นมาใช้ในกองทัพบกเพื่อประหยัดงบประมาณ ด้านการรักษาความมั่นคงของรัฐ ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมาย รวมถึงการแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ อาทิ การสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด การสกัดกั้นผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ตลอดจนการปฏิบัติภารกิจอื่น ๆ เช่น การสกัดกั้น
การลักลอบนำเข้า/ส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และการกระทำผิดกฎหมายตามแนวชายแดนอื่น ๆ รวมถึง การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านการพัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคงและการช่วยเหลือประชาชน การเตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์เพื่อเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยการประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงาน/ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การสนับสนุน
การปลูกไม้ยืนต้น และไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ด้านการเสริมสร้างความร่วมมือทางทหารกับต่างประเทศ การจัดลำดับความเร่งด่วนในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ และความร่วมมือด้านการทหารในระดับกองทัพบกกับกองทัพบก
มิตรประเทศ โดยยึดถือตามแนวทางของกระทรวงกลาโหมและกองทัพไทย และปรับให้มีความเหมาะสม
กับการดำเนินการในระดับกองทัพบก โดยจะยึดถือนโยบายการปฏิบัติงานของผู้บัญชาการทหารสูงสุด/ผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการทางทหาร ตลอดจนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ให้ความสำคัญเร่งด่วนสูงสุดในการพิทักษ์รักษา ปกป้อง และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเต็มขีดความสามารถ และดำรงความต่อเนื่องในการพัฒนา เสริมสร้างศักยภาพของกองทัพ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงปลอดภัย แก้ไขปัญหาของชาติและประชาชนให้ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข และเกิดความสงบเรียบร้อยอย่างยั่งยืน
กองทัพเรือ ได้สรุปผลการปฏิบัติงานที่สำคัญให้ที่ประชุมฯ ได้รับทราบ ได้แก่ ด้านการพิทักษ์ รักษา ปกป้อง และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยได้จัดกำลังถวายความปลอดภัยในพื้นที่รับผิดชอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จำนวน ๑๓๑ ครั้ง การจัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” จำนวน ๓,๓๙๔ ครั้ง รวมทั้งจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลตามที่รัฐบาลกำหนด ด้านการป้องกันประเทศ การทบทวนยุทธศาสตร์กองทัพเรือและกำหนดโครงสร้างกำลังรบให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป การฝึกเตรียมความพร้อมตามแผนป้องกันประเทศ โดยกองทัพเรือได้จัดให้มีการฝึกกองทัพเรือประจำปี ๒๕๖๖ เพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังรบและระบบอำนวยการยุทธ์ตามแผนป้องกันประเทศ การเสริมสร้างกำลังกองทัพที่สำคัญ ได้แก่ การรับมอบเรือหลวงช้าง จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าประจำการ ด้านการรักษาความมั่นคงของรัฐ โดยได้บังคับใช้กฎหมายและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลตามอำนาจหน้าที่ การจับกุมยาเสพติดให้โทษประเทศต่าง ๆ การจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายตามแนวชายแดน นอกจากนั้น
ยังได้จัดทำแผนพัฒนาศักยภาพกองทัพเรือฝั่งทะเลอันดามัน รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตาม
โครงการสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเลให้แก่รัฐ ตลอดจนส่งเสริมบทบาทศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ในการมีบทบาทนำด้านความมั่นคงทางทะเล
ระดับภูมิภาค ด้านการพัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคงและการช่วยเหลือประชาชน ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือได้จัดกำลังและยุทโธปกรณ์ให้การช่วยเหลือประชาชนจากเหตุการณ์ภัยพิบัติประเภทต่าง ๆ รวมทั้งดำรงการช่วยเหลือประชาชนเชิงรุกผ่านโครงการ บ้าน วัด โรงเรียน และโครงการ คลองสวยน้ำใส ร่วมใจสามัคคี อย่างต่อเนื่อง การบรรเทาสาธารณภัยในทะเล กองทัพเรือ ได้จัดกำลังเข้าช่วยเหลือเหตุการณ์เรือเบญจมาศ ๒ ซึ่งน้ำทะเลเข้าห้องเครื่องจักรใหญ่ บริเวณอ่าวไทยตอนบน มีผู้เสียชีวิต ๑ นาย กองทัพเรือได้จัดกำลังพล เรือ อากาศยาน ชุดปฏิบัติการพิเศษ และเจ้าหน้าที่ประดาน้ำ เข้าให้การช่วยเหลือจนเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และเหตุการณ์ที่ ๒ พบคราบน้ำมันรั่วไหลจากเรือขนถ่ายน้ำมันดิบ บริเวณทุ่นผูกเรือกลางทะเลหมายเลข ๒ ของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี กองทัพเรือ จึงได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน และจัดกำลังพล เรือ และอากาศยาน สนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ด้านการเสริมสร้างความร่วมมือ
ทางทหารกับต่างประเทศ ได้ดำเนินความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง
เพื่อเสริมสร้างบทบาทนำในภูมิภาค การจัดกำลังทางเรือเข้าร่วมการลาดตระเวนและการฝึกผสมกับกองทัพเรือ
มิตรประเทศต่าง ๆ ตามแผนงานที่กำหนด รวมทั้ง ได้แสดงบทบาทนำในภูมิภาคด้วยการเป็นเจ้าภาพการประชุม
ที่สำคัญ ได้แก่ การประชุม ADMM-Plus EWG on MS ครั้งที่ ๑๘ การประชุม ReCAAP ISC Cluster Meeting และสนับสนุน ศรชล. จัดการประชุม South East Asia Maritime Law Enforcement Initiative (SEAMLEI) Commander’s Forum” ครั้งที่ ๙ นอกจากนั้น ยังได้เตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปีงบประมาณต่อไป ได้แก่ การเป็นประธานกรอบความร่วมมือของกองทัพเรือในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย หรือ IONS ระหว่างปี
ค.ศ.๒๐๒๓ – ๒๐๒๕ การเป็นเจ้าภาพ WPNS Workshop ๒๐๒๙ การเป็นประธาน ASEAN Navy Chief Meeting ๒๐๒๖ และเจ้าภาพ Naval Medicine Seminar ๒๐๒๗ ภายใต้กรอบ WPNS จากผลการปฏิบัติที่สำคัญดังกล่าวกองทัพเรือมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินการของกองทัพเรือ จะช่วยส่งเสริมกองทัพไทยให้เป็นกองทัพ
ที่เข้มแข็ง ทันสมัย และเป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน
กองทัพอากาศ ได้นำเสนอผลการปฏิบัติงานที่สำคัญให้ที่ประชุมฯ ได้รับทราบ ได้แก่ ด้านการพิทักษ์เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยได้นำส่งสิ่งของพระราชทานไปช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนชาวตุรกีที่ประสบเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กรณีพายุไซโคลน MOCHA การจัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน การแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันในวันสำคัญต่าง ๆ การจัดหน่วยทหารรักษาพระองค์ถวายพระเกียรติ/ถวายความปลอดภัยในหมายที่สำคัญ ด้านการป้องกันประเทศ โดยการบินลาดตระเวนรบทางอากาศตามแนวชายแดนด้านทิศตะวันตก ทั้งกลางวัน/กลางคืนเพื่อป้องปราบการบินล้ำแดน ให้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการ และในห้วงเวลาปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้าม ให้เกิดการรับรู้ของประชาชนโดยทั่วกัน ด้านการรักษาความมั่นคงของรัฐ โดยการรักษาความปลอดภัยและการรองรับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ครั้งที่ ๒๙ การนำขีดความสามารถกำลังทางอากาศเข้าบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้านการพัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคงและการช่วยเหลือประชาชน อาทิ การบรรเทาสาธารณภัย สนับสนุนอากาศยานปฏิบัติภารกิจฝนหลวง ปฏิบัติการควบคุมไฟป่า
การลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ การสนับสนุนกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติการนภารักไทย ร่วมกับ กองบัญชาการกองทัพไทย ในภารกิจการอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสาธารณรัฐซูดาน การบรรจุเข้าประจำการระบบอากาศยานไร้คนขับพิสัยกลางแบบ DominatorXP (Maned – Unmaned Teaming)
ซึ่งเป็นอากาศยานไร้คนขับแบบ Medium Altitude Long Endurance หรือ MALE แบบแรกของประเทศไทย การจัดทำแผนงานสำหรับพัฒนาพื้นที่สนามบินเชียงราย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางรองรับการปฏิบัติการช่วยเหลือ
ด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภารกิจช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกองทัพอากาศและองค์การต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการ
ให้ความช่วยเหลือประชาชน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สรุปผลการปฏิบัติงานที่สำคัญให้ที่ประชุมฯ ได้รับทราบ ได้แก่ การจัดกิจกรรมจิตอาสาภัยพิบัติ การป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดและอำนวยความยุติธรรมทางอาญา การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วน โดยได้กำหนดนโยบายและมาตรการสำคัญ ๒ ด้าน ได้แก่ มาตรการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการยกระดับความสำคัญในการป้องกันยาเสพติด แสวงหาความร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำโครงการชุมนุมยั่งยืน ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๔ จนถึงปัจจุบัน และมาตรการปราบปรามยาเสพติด ได้แก่ การปราบปรามยาเสพติด 213,104 คดี โดยจากการปฏิบัติงานด้านยาเสพติดได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยได้วางระบบการรับแจ้งความออนไลน์ จำนวน ๓๐๕,๙๕๒ คดี มูลค่าความเสียหาย๔๑,๓๓๖ ล้านบาท สามารถอายัดเงิน ๗๔๗ ล้านบาท ซึ่งพบว่าสถิติประเภทคดีสูงสุด ๕ ลำดับ ได้แก่ หลอกซื้อขายสินค้าหรือบริการ ร้อยละ ๓๘.๔๐ หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน ร้อยละ ๑๓.๓๙ หลอกให้กู้เงิน ร้อยละ ๑๓.๑๕ หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ร้อยละ ๘.๑๕ และข่มขู่ทางโทรศัพท์/Call Center ร้อยละ ๗.๔๗ การผลักดัน พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.๒๕๖๖ ซึ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๖ โดยพบว่าภายหลังกฎหมายบังคับใช้สถิติคดีอาชญากรรมออนไลน์ลดลง สามารถจับกุมบัญชีรับเงิน หรือบัญชีม้า ๒๕๒ ราย ซิมการ์ด ๘๔ ราย และใช้กลไกคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการป้องกัน ปราบปราม และจัดการคดี จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างภาคีเครือข่ายป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำหรับการบังคับใช้กฎหมายจราจร มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการจราจร เช่น การกำหนดเรื่องที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก การกำหนดการโดยสารท้ายรถกระบะให้มีความปลอดภัย การเพิ่มโทษของผู้ที่กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับ การกำหนดโทษของการรวมกลุ่มมั่วสุมเพื่อแข่งรถในทางตั้งแต่ ๕ คันขึ้นไป การยกระดับสถานีตำรวจและการให้บริการประชาชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างขวัญกำลังใจข้าราชการตำรวจ โครงการธรรมนำใจ โครงการทำดี มีรางวัล การจัดหาเครื่องแบบรูปแบบใหม่ให้กับตำรวจจราจรทั่วประเทศ โครงการครอบครัวตำรวจเราไม่ทิ้งกัน โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจและลูกจ้าง นอกจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังได้ให้ความสำคัญในการปฏิบัติงาน กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการเสนอร่างกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรการเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดทำโครงการชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาปรับปรุงระบบการทำงาน และความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มุ่งเน้นการดำเนินการในทุกมิติ ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นตำรวจมืออาชีพ ทำงานเชิงรุก เพื่อความสงบสุขของประชาชน” และวางแนวทางการปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ว่า “ความทุกข์ร้อนของประชาชน เป็นหน้าที่ของตำรวจต้องเข้าไปแก้ไขอย่างรวดเร็วและทันท่วงที” เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และสังคมส่วนรวมต่อไป
ในโอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กล่าวขอบคุณเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ทุ่มเท เสียสละ ร่วมแรง ร่วมใจตลอดระยะเวลา ๑ ปีที่ผ่านมาในการทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน สามารถแก้ปัญหาในภารกิจต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้สำเร็จด้วยดีอย่างมีประสิทธิภาพ และขอให้ดำรง
ความร่วมมือระหว่างเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดูแลประเทศชาติและประชาชน พร้อมกับปกป้องสถาบันหลักของชาติอย่างต่อเนื่องตลอดไป
กองทัพไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาอธิปไตยและความมั่นคงของชาติ รวมทั้ง สนองตอบนโยบายของรัฐบาล โดยจะใช้ศักยภาพและทรัพยากรที่มีอยู่ในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงให้กับประเทศชาติ และประชาชนสืบไป
กองประชาสัมพันธ์ สำนักประชาสัมพันธ์ กรมกิจการพลเรือนทหาร
๑๑ กันยายน ๒๕๖๖